โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)
พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดย นายแพทย์ Tomisaku Kawasaki ที่ประเทศญี่ปุ่น และตั้งชื่อว่า Mucocutaneous Lymph Node Syndrome (MCLS) และต่อมาก็พบโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรคคาวาซากิ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบครั้งแรก
ระบาดวิทยา
•พบมากแถบเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ
•พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (ประมาณ 2:1)
•อายุโดยมากน้อยกว่า 4 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี พบบ่อยที่สุด
•โรคนี้มีโอกาสเกิดในครอบครัวเดียวกัน (พี่น้อง) ได้ โดยเมื่อคนหนึ่งเป็นอีกคนจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป
•เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจเกิดเป็นซ้ำได้ พบได้ประมาณร้อยละ 3-5
สาเหตุ
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ จึงคาดว่าโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานผิดปกติ (Immunologic disease)
อาการและอาการแสดงของโรค
• ไข้: ผู้ป่วยจะมีไข้สูง และสูงเป็นพักๆ นาน 1-2 สัปดาห์ บางรายนานถึง 3-4 สัปดาห์
• ตาแดง: ตาขาวจะแดงโดยไม่มีขี้ตา เกิดหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วันและเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
• มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปาก: จะมีริมฝีปากแดง, แห้ง และผิวหนังที่ริมฝีปากจะแตกลอกต่อมา ลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตอร์เบอรี่ (strawbery tongue)
• มีการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า: โดยจะบวมแดง ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายของเล็บมือและเท้า(ประมาณ 10-20 วัน หลังมีไข้) และลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้น 1-2 เดือน จะมีรอยขวางที่เล็บ (transverse groove; Beau's line) ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์โรคมาก
• ผื่นตามตัวและแขนขา: มักเกิดหลังจากมีไข้ได้ 2-3 วัน โดยผื่นมีได้หลายแบบ ไม่คัน
• ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโต: พบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย ไม่เจ็บ อาจพบข้างเดียวหรือสองข้างของลำคอก็ได้ โดยมีขนาดเกินกว่า 1.5 เซนติเมตร
• อาการแสดงอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย: ได้แก่ ปวดตามข้อ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ, ท้องเสีย, ปอดบวม เป็นต้น
ปัญหาสำคัญของโรคคาวาซากิ คือ เกิดโรคแทรกซ้อนหรือลุกลามไปที่หัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) ได้ โดยพบประมาณร้อยละ 20-30 อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ดี และหัวใจวายได้ ส่วนเส้นเลือดที่โป่งพองก็อาจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ถ้าเป็นมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ และปัจจุบันยังไม่มีการตรวจ ตลอดจนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้เป็นเครื่องชี้เฉพาะของโรคนี้ได้ ต้องอาศัยกลุ่มอาการของโรคและการวินิจฉัยแยกโรคเป็นการให้การวิเคราะห์โรค โดยอาศัยหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย ดังนี้
1.ไข้สูง และสูงนานเกิน 5 วัน ติดต่อกัน
2.มีอาการและอาการแสดงดังต่อไปนี้
◦มีการบวมแดงของฝ่ามือ ฝ่าเท้า
◦มีผื่นตามตัว
◦ตาแดง 2 ข้าง โดยไม่มีขี้ตา
◦ริมฝีปากแห้งแดง, อุ้งปากและลิ้นแดง
◦ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
การรักษา
โรคนี้หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ถ้าให้ยาแอสไพริน จะทำให้ไข้ลดเร็วมากขึ้นและเพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ( Aspirin ขนาดสูง ในช่วงแรก แบ่งให้ทางปาก เมื่อไข้ลงจะลดยาลง ) เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มียาเฉพาะใช้รักษาโรค แต่การรักษาด้วยอิมมูโนโกลบุลินชนิดฉีด (intravenous immunoglobulin, IVIG) สามารถลดความรุนแรงและอุบัติการณ์โรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดลงได้ เหลือเพียงร้อยละ 5-7 เท่านั้น
การรักษาแบ่งเป็น 2 ระยะ
1.การรักษาในช่วงเฉียบพลัน ให้การรักษาโดยให้ IVIG ขนาด 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. ร่วมกับรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) ขนาด 80-120 มก./กก./วัน
2.การรักษาในช่วงไม่เฉียบพลันและต่อเนื่อง ให้ Aspirin ขนาด 3-5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน รับประทานหลังไข้ลดลงนานประมาณ 2 เดือน
เอกสารอ้างอิง
นพ.วัชระ จามจุรีรักษ์ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ http://www.doctordek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=12&Itemid=11
นพ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์http://medinfo.psu.ac.th/pediatrics/kd.htm
อ้างอิงภาพ http://a3.att.hudong.com/56/54/01300000046969120593546005980_s.jpg
บัณฑิตา นฤมาณเดชะ update สิงหาคม 31, 2552 at 10:09 am.
บล็อกของ Bantita
กรุณา ล็อกอิน หรือ สมัครสมาชิก ก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่งไปหาเพื่อน / แจ้งเว็บมาสเตอร์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน (รสส.) สถาบัน
No comments:
Post a Comment