พึ่งตนพึ่งธรรม - รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ธรรม
คมชัดลึก :สมัยเด็กๆ พวกเราบางคนคงจำกันได้ สุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ตี” เป็นภาษิตที่ใช้กันได้ดีในยุคสมัยนั้น ทั้งในสังคมที่บ้าน หรือ ที่โรงเรียนก็ตาม ภาพคุณครูที่ถือไม้เรียวคอยยืนกำราบอยู่หน้าโรงเรียน ยังเป็นภาพที่ติดตา ตรึงใจ กับเด็กในยุคสมัยนั้น (อย่างเช่นวัยผู้เขียน) มิจางคลาย
อย่างเช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ครูใหญ่จะมีประเพณี “เฆี่ยนโชว์” คือ เรียกเด็กนักเรียนที่ทำผิดรุนแรง มาขึ้นแท่นเฆี่ยนโชว์ที่หน้าเสาธง ตั้งแต่ ๓ ที (ผิดขั้นเบา) ไปจนถึง ๑๒ ที (ผิดขั้นรุนแรง) ท่ามกลางความเงียบของการเฆี่ยนโชว์ทุกครั้ง เสียงไม้เรียวดุ้นหนา ที่ถูกหวดผ่านลม กระทบก้นแน่นๆ ของเด็กนักเรียนที่ยืนกอดอก ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนหญิง (ต้องรวบกระโปรงไว้ด้วย เวลาถูกตี) ยังจำติดหูผู้เขียนเสมอมา
ส่วนที่บ้าน พ่อแม่ที่มีระบบการทำโทษอย่างเป็นระบบ ก็จะเหลาไม้เรียวเก็บไว้ที่บ้าน และนำมาใช้ทำโทษ โดยการตีลูกหลาน ให้หลาบจำ เวลาที่ทำความผิด ถือเป็นการลงโทษอย่างเป็นแบบแผน แต่ก็มี พ่อแม่บางครอบครัว ที่มิเคยเตรียมการอะไรไว้ อาศัยเวลาทำโทษ ซึ่งมักจะเป็นเวลาที่พ่อแม่มีอารมณ์โกรธ ก็มักจะหยิบฉวยสิ่งของใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นไม้ขนไก่, ไม้ถูบ้าน เตียงนอนพับ ฯลฯ เอามาฟาด มาตีใส่ลูกในทันทีทันใด ลูกหลานที่เจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ก็ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัว หลบเลี่ยงกันเอาเอง
หากกล่าวอย่างสรุป ยุคสมัยแห่งการใช้นโยบาย รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ตีนั้น ผมถือว่าประสบความสำเร็จ คือใช้ได้ผลดีกับสังคมไทย โดยส่วนใหญ่
แต่ครั้นพอถึงยุคถัดมา (ประมาณ ๑๕ ปีย้อนหลังไปนี้เอง) เมื่อประเทศไทย แอ่นอกรับวัฒนธรรมทุนนิยมอย่างเต็มสูบ ผู้คนในสังคมเริ่มพูดจากันเป็นภาษาเงิน มากกว่าภาษาใจ ลูกหลานในยุคสมัยนี้ จึงไม่นิยมเฆี่ยนตีกันแล้ว หนำซ้ำ ไม่นานมานี้เอง หน่วยงานรัฐบาลเองก็ดี กระทรวงศึกษาธิการก็ดี ออกหน้าสนับสนุน ทั้งด้วยการรณรงค์ และด้วยกฎก็ดี เพื่อมิให้ครูบาอาจารย์ ลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตี อีกต่อไป วัฒนธรรมการสั่งสอนลูกหลานสมันนี้ เปลี่ยนไปในแนวทาง ตบรางวัลด้วยวัตถุ หรือจูงใจด้วยเงิน แทน (Review and Reward) เด็กไทยหลายคน เริ่มเสียคนกันในยุคนี้ ผมเรียกยุคนี้ว่า ...
“รักวัวให้ผูก-รักลูกให้เงิน”
ใช่แล้วครับ ผู้ใหญ่ที่มีมิจฉาทิฏฐิหลายคน ได้ทำร้ายลูกตัวเองโดยไม่เจตนา ทำลายไปถึงขั้นชีวภาพ โดยเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม จากมนุษย์ที่เคยเป็น “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ให้กลายเป็น “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน” ไปเสียฉิบ !
“เงิน” จึงมีความสำคัญมากขึ้น บางทีมากกว่าสายสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูก เสียอีก มันกลายเป็นยุทธปัจจัย ที่คนในยุคสมัยนี้ จะขาดไม่ได้เสียแล้ว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ยังไม่พอ ในกระเป๋าต้องมีเงินด้วย เงินจึงซื้อได้ทุกอย่าง เปลี่ยนอุดมการณ์ของคนในสังคม ทั้งนักการเมือง ประชาชนทั้งรากหญ้า ทั้งปัญญาชน ภาษิตจีนโบราณ ที่ประชดประชันเปรียบเปรย อานุภาพของเงินตรา จึงถูกนำกลับมากล่าวถึงกันมากขึ้น ...
“มีเงิน ... เรียกผี มาโม่แป้ง ยังได้”
สังคมไทยทุกวันนี้ จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและรุนแรง เพราะต่างก็มีมิจฉาทิฏฐิ ผู้คนเต็มไปด้วยความก้าวร้าว ถือทิฏฐิมานะ ไม่ยอมกันและกัน มองเห็นประโยชน์ตนมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม เรามองเห็นชัด ซึ่งกลิ่นอายแห่งความเห็นแก่ตัวที่รุนแรงขึ้น และ ความประนีประนอมที่อ่อนแรงลง
ดังนั้น ... ครอบครัว เป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด แต่กลับเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขหรือเยียวยาสังคมไทย เพราะจุดสำคัญ ที่จะสกัดกั้น ไม่ซ้ำเติมให้สังคมเลวร้ายไปกว่านี้ หากถามผู้เขียนว่า แล้วเราควรจะให้นโยบายอะไรดี ในเมื่อ รักลูกแล้ว จะตีก็ไม่ได้ จะให้เงินก็ไม่ได้? ผู้เขียนก็อยากจุดประกายใหม่ว่า ...
“รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ธรรม”
เพราะ “ธรรม” นั้น มั่นคงถาวรกว่า แก้ปัญหาได้เสร็จสรรพ แก้กันตั้งแต่ “ต้นเหตุ” ของปัญหาเลยทีเดียว พ่อแม่ต้องรู้ธรรม ต้องมีธรรม, พ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตรต่อลูกหลาน สร้างบรรยากาศที่ดี ฉีดภูมิธรรมให้แก่เยาวชน บ่มเพาะกันแต่แรกเกิดเลย เพราะไม้อ่อนดัดง่าย เมื่อบรรยากาศเป็นธรรมแล้ว ถึงเวลาจำเป็น ต้องตีลูกเพื่อตักเตือน ก็สามารถตีได้ด้วยธรรม สอนก่อนแล้วจึงตี ตีก็ตีด้วยความเมตตา หาได้โกรธเกรี้ยว ระบายอารมณ์ไม่, หากต้องการจะตบรางวัลเป็นวัตถุ เงินทอง ก็ต้องให้ด้วยธรรม คือให้แต่พอดี ให้ด้วยเหตุผล (ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำเร็จแล้วจึงให้) ให้ตามเหมาะสมแก่วัย (ไม่ใช่ซื้อแบล็กเบอร์รี่ให้ลูกสาววัย ๕ ขวบ เพราะกลัวลูกหลงทาง) การให้อย่างนี้ จึงเป็นการทำถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เสร็จสรรพในตัว
รักลูกให้ตี โบราณมี ให้กำราบ
ตีขนาบ ให้รู้ดี-ชั่ว ห่วงลูกหลาน
เมื่อเติบใหญ่ จะได้ดี ในการงาน
ไม่ออกนอก ลู่ทาง ที่สอนไว้
รักลูกให้เงิน ดูผิวเผิน ในสัมพันธ์
ด้วยลัทธิ เงินบันดาล โลกสดใส
สื่อสารเป็น ภาษาเงิน ใช่ด้วยใจ
สุดท้ายโลก ต้องบรรลัย ด้วยใจด้านชา
รักวัวผูก รักลูก ต้องให้ธรรม
ธรรมเท่านั้น เป็นหลัก ทุกศาสนา
ให้ดับทุกข์ สร้างสุข ด้วยธรรมา
แล้วโลกา จะร่มเย็น เป็นนิรันดร์
เพราะฉะนั้น ... ทุกครอบครัว หันมา รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ธรรม กันเถิด เริ่มกันแต่วันนี้ อาจจะ อีก ๑๐ ปีข้างหน้า สังคมไทยจะดีกว่าที่เป็นอยู่ แน่นอน
"พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา"
คมชัดลึก